ไลฟทูน ไรโซ โคคิวเทนพลัส 1,000มก. 45แคปซูล



ไลฟทูน ซีวีดแคลเซียมพลัส มิเนอรัล 1,000มก. 45แคปซูล



ไลฟทูน น้ำมันปลาไร้กลิ่น 1,000มก 45แคปซูล



ไลฟทูน กรีนลิฟท์มัสเซิล+ฟิชออยล์ 1,000มก. 45แคปซูล

25 สัญญาณร้ายจะมาเยือน เมื่อเรานอนไม่พอเป็นประจำ

   คำพูดยอดฮิตของคุณหมอที่มักจะย้ำเราเสมอว่า "ควรนอนพักผ่อนเพียงพอ" นั้นอาจไม่ใช่แค่ประโยคบอกเล่าธรรมดา ๆ ซะแล้ว เพราะเท่าที่ดูจากผลงานวิจัยหลายชิ้นที่รวบรวมอยู่ในเว็บไซต์ Bussinessinsider.com แล้วพบว่า แค่การนอนหลับไม่เพียงพอในแต่ละคืนก็สามารถเกิดผลกระทบต่อสุขภาพเราได้อย่างมหาศาลเลย มาดูกันดีกว่าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรานอนหลับไม่เพียงพอบ่อย ๆ


     อารมณ์แปรปรวน
                
              จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในสหรัฐฯ เผยว่า ผู้ที่มีค่าเฉลี่ยชั่วโมงการนอนเพียง 4.5 ชั่วโมงในแต่ละคืน เป็นเวลา 1 สัปดาห์นั้น มีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวนกว่าคนที่นอนประมาณ 7 ชั่วโมงต่อคืน โดยที่อารมณ์แปรปรวนเหล่านั้นจะผสมปนเปกันไประหว่างความรู้สึกเครียด เศร้า ท้อแท้ โมโห หงุดหงิด ซึ่งปกติแล้วธรรมชาติของเราสามารถควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ได้ แต่เมื่อไรที่เรานอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมอารมณ์ของตัวเองลดต่ำลง

    25 สัญญาณร้ายจะมาเยือน

     ปวดหัว
                
              แม้ว่าจะยังไม่มีนักวิจัยคนไหนกล้าฟันธงว่าการนอนไม่พอเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปวดหัว แต่ก็ยังมีปัจจัยบางอย่างที่สามารถอธิบายได้นั่นคือ การนอนน้อยทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาการปวดหัวจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวปวดไมเกรนนั้น มีโอกาสสูงที่อาการจะกำเริบมากกว่าคนที่ไม่เป็นไมเกรน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนส่วนใหญ่ที่นอนน้อยแต่ไม่มีอาการปวดหัวในตอนเช้า ในขณะที่มีคนอีกร้อยละ 36-58 นอนไม่หลับในตอนกลางคืน แล้วตื่นเช้ามามีอาการปวดหัวเล็กน้อย

     เรียนรู้ช้าลง
                
              การนอนหลับไม่เพียงพอส่งผลให้สมองเรียนรู้ช้าลงได้จริง จากผลการสำรวจในโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ที่มีการเลื่อนเวลาเข้าเรียนจาก 7 โมงครึ่งเป็น 8 โมงครึ่ง พบว่า ผลคะแนนการสอบในวิชาเลขและการอ่านของนักเรียนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 และร้อยละ 1 ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถอธิบายได้ว่าการเพิ่มเวลาการนอนหลับสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และจดจำให้สมองได้มากขึ้น 
     
     อ้วนขึ้น
                            
              คนที่นอนไม่พอในตอนกลางคืนมีแนวโน้มน้ำหนักเพิ่มขึ้นง่ายกว่าคนที่นอนหลับเต็มอิ่ม เพราะการที่ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอนั้น จะทำให้เรามีความอยากอาหารมากขึ้น โดยที่สมองจะสั่งให้เราอยากกินแต่อาหารที่มีแคลอรี่สูงเพื่อนำมาใช้เผาผลาญเป็นพลังงานแก่ร่างกาย เราจึงมีแนวโน้มน้ำหนักตัวขึ้นง่ายจากอาหารที่มีแคลอรี่สูงเหล่านี้นั่นเอง

     สายตาพร่ามัว
                
              การนอนไม่พอมีผลทำให้สายตาของเราพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด และหากนอนไม่พอติดต่อกันเป็นเวลาหลายคืนอาจมีอาการเห็นภาพหลอนด้วย มีงานวิจัยหนึ่งเผยว่า ตาของเราควรได้รับการพักผ่อนในตอนกลางคืนอย่างน้อย 5 ชั่วโมง เพื่อการฟื้นฟูเซลล์ที่สึกหรอไปในระหว่างการใช้งานในแต่ละวัน และถ้าหากนอนน้อยกว่านั้นก็จะเกิดอาการกล้ามเนื้อตากระตุก หรือตาเขม่นดังเช่นที่ใครหลายคนเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับโชคลาง ซึ่งความจริงแล้ว อาการกล้ามเนื้อตากระตุก หนังตาเขม่น มองเห็นเป็นภาพซ้อน เบลอ หรือพร่ามัว ก็มาจากที่เซลล์กล้ามเนื้อบริเวณดวงตาไม่ได้รับการซ่อมแซมตัวเองอย่างสมบูรณ์

    25 สัญญาณร้ายจะมาเยือน

     โรคหัวใจ
                
              นักวิจัยเคยได้ทำการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่นอนเลยเป็นเวลา 88 ชั่วโมง ผลคือ พวกเขามีระดับความดันเลือดสูงมาก และเมื่อเปลี่ยนมาให้กลุ่มอาสาสมัครนอนนาน 4 ชั่วโมงใน 1 คืน ผลคือ อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับปกติ ค่าเฉลี่ยการเต้นของหัวใจใกล้เคียงกับคนที่ได้นอนปกติ  และสิ่งที่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจก็คือ สารโปรตีนที่มีสะสมตัวมากขึ้นในขณะที่เราตื่น และจะถูกขับออกจากร่างกายโดยธรรมชาติเมื่อเราหลับ ดังนั้นหากใครที่อดนอน หรือนอนน้อยเป็นเวลานานจึงเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้

     เฉื่อยชา
                
              ทีมนักวิจัยเคยได้ทำการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นนักเรียนนายร้อย เพื่อหาคำตอบว่าการนอนไม่พอนั้นมีผลทำให้มีอาการเฉื่อยชาจริงหรือไม่ จึงได้ทำการแบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่ม โดยจัดให้กลุ่มหนึ่งห้ามนอน อีกกลุ่มหนึ่งนอนตามปกติ จากนั้นให้อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มทำแบบทดสอบทั้งหมด 2 ครั้ง ผลปรากฏว่า กลุ่มอาสาสมัครที่ได้นอนอย่างเพียงพอนั้นมีการตอบโต้ และมีการตัดสินใจที่รวดเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้นอน ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้ว่า การนอนไม่พอทำให้ร่างกายของเราเฉื่อยชา มีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างช้าลง    

     ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง
                
              การนอนไม่พอมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคทำงานแย่ลง เพราะกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายจะขัดขวางการทำงานของจุลินทรีย์ ส่งผลให้การฟื้นฟูซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ผิดปกติไปจากเดิม ผลคือ หากเป็นแผลจะหายช้า หรือถ้าเป็นโรคเสื่อม เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง  ร่างกายก็จะติดเชื้อง่ายขึ้น

    25 สัญญาณร้ายจะมาเยือน

     การตัดสินใจผิดพลาด
                
              คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่า คืนก่อนวันสำคัญจะมาถึง ควรเข้านอนแต่หัวค่ำ และการนอนเต็มอิ่มก็จะทำให้ร่างกายเราสดใส กระปรี้กระเปร่าในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ความจริงแล้วมีเหตุผลมากกว่านั้นซ่อนอยู่ คือ การนอนไม่พอจะทำให้สมองประมวลความคิดช้าที่อาจส่งผลให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ 

     ปัสสาวะบ่อย 
                
              อาการฉี่รดที่นอน และการตื่นมาเข้าห้องน้ำในตอนกลางคืนก็เป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังได้รับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ เพราะตามธรรมชาติแล้วระบบขับปัสสาวะในร่างกายจะทำงานตามนาฬิกาชีวิตของเรา โดยกล้ามเนื้อหูรูดในท่อปัสสาวะจะไม่ทำงานในตอนกลางคืน และยังมีความแข็งแรงมากที่จะกลั้นปัสสาวะของเราเอาไว้ตลอดเวลาที่เราหลับ ดังนั้นคนที่นอนไม่พอเป็นประจำนั้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดในท่อปัสสาวะอ่อนแอลงได้  

     ไม่มีสมาธิ
                
              การนอนไม่พอส่งผลให้กิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิทำได้แย่ลง เช่น ขับรถ ยิงปืน ล่องเรือใบ และขี่จักรยาน เพราะสมองไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ส่งผลให้เราร่างกายอยู่ภาวะมึนงงตลอดทั้งวัน ทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

     ลดประสิทธิภาพของวัคซีน
                
              การนอนหลับไม่เพียงพอก็มีผลทำให้การฉีดวัคซีนไม่ได้ผล ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาได้ ดังนั้นวัคซีนที่ฉีดเข้าไปจึงไม่มีผลใด ๆ ต่อการรักษาหรือป้องกันโรคเลย  เคยมีผลการทดลองในหัวข้อนี้ด้วย คือ ให้อาสาสมัครทั้งหมด 19 คน ฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ โดยที่มีอาสาสมัคร 10 คนนอนหลับในแต่ละคืนนาน 8 ชั่วโมง ในขณะที่ 9 คนที่เหลือนั้นนอนน้อยกว่า 8ชั่วโมง จากนั้น 4 สัปดาห์ต่อมามีการตรวจร่างกายวัดผลประสิทธิภาพของวัคซีน พบว่า ระดับสารแอนติบอดี้ในร่างกายของอาสาสมัครที่นอนหลับเพียงพอนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่นอนไม่พอเป็นสองเท่า

     พูดจาไม่รู้เรื่อง  
                    
              การนอนให้ได้คืนละ 7 ชั่วโมงนั้นฟังดูเหมือนเป็นกิจวัตรของเด็กอนามัย แต่ความจริงแล้ว เป็นหลักสากลที่เราควรทำ จากการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่นอนเลยเป็นเวลา 36 ชั่วโมงนั้นมีแนวโน้มเป็นคนพูดจาไม่รู้เรื่อง พูดติดขัด และพูดช้าลง ที่สำคัญคือ พวกเขาไม่สามารถพูดในสิ่งที่คิดออกมาได้ ทั้งนี้เป็นผลจากการที่สมองประมวลความคิดความอ่านช้า

    25 สัญญาณร้ายจะมาเยือน

     เป็นหวัด
                
              การนอนไม่พอมีผลทำให้ร่างกายเป็นหวัดบ่อยกว่าปกติ เพราะร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง จากผลการวิจัยส่วนใหญ่ เผยว่า ผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อคืน มีโอกาสป่วยมากกว่าคนที่นอนเกิน 8 ชั่วโมงต่อคืนเป็นสามเท่า และคนที่ใช้เวลานานกว่าจะหลับนั้นก็มีโอกาสป่วยง่ายกว่าคนที่หัวถึงหมอนแล้วหลับเลยถึง 5.5 เท่า

     ระบบย่อยอาหารมีปัญหา  
                
              เคยมีรายงานระบุเอาไว้ว่า ชาวอเมริกันราว 250 คนที่มีพฤติกรรมนอนหลับไม่เพียงพอนั้น กลายเป็นผู้ป่วยโรค IBD หรือ โรคกลุ่มอาการลำไส้อักเสบเรื้อรัง ซึ่งมีผู้ป่วยร้อยละ 10-15 เป็นโรคโครห์น (Crohn's disease) โดยมีอาการท้องเสียปนเลือดเป็นครั้งคราว ปวดท้องจากการอักเสบหรือการบีบตัวของลำไส้ น้ำหนักลด ท้องอืด อาเจียน ซึ่งถึงแม้ว่าจะรักษาให้หายได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีกครั้งหากร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ

     เสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุ
                
              อาชีพที่ต้องใช้สมาธิในการขับยวดยานพาหนะส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการนอนมาก เช่น นักบิน คนขับรถสาธารณะ คนขับรถบรรทุกส่งของ เป็นต้น สาเหตุเป็นเพราะการนอนไม่พอสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่า ส่วนหนึ่งมาจากความเหนื่อยล้าของร่างกาย ที่ทำให้ไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับเส้นทางข้างหน้า การวูบหลับไปเพียงเสี้ยววินาทีก็สามารถเกิดเหตุอันน่าสลดได้แล้ว

     สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง 
                
              การนอนหลับไม่พอมีผลต่อกระบวนการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนให้ต่ำลงได้ ส่งผลให้ความต้องการทางเพศลงต่ำลง ซึ่งภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้นพบได้มากในผู้ป่วยที่เป็นโรคนอนไม่หลับ

     มีอาการปวดเรื้อรัง
                
              จากผลการวิจัยในปี 2006 ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลีส เผยว่า คนที่เข้านอนในช่วงเวลาระหว่าง 5 ทุ่มถึงตี3 สารเคมีในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่องไปจากเดิม ทำให้ร่างกายของคนที่นอนไม่พอ หรือนอนน้อยไวต่อการปวดต่าง ๆ มากกว่าคนที่นอนในช่วงเวลาตั้งแต่หัวค่ำ
     
     โรคเบาหวาน
                
              มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า การนอนไม่พอทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นโรคเบาหวานประเภท 2ได้ แต่อย่างไรก็ตามกลับมีผลการวิจัย 4 ชิ้น ออกมาแย้งว่า สาเหตุการเป็นโรคเบาหวานนั้นไม่ได้มาจากการนอนไม่พอ แต่มาจากพฤติกรรมการกินเป็นส่วนใหญ่

     โรคกระดูกพรุน
                
              จากผลการวิจัยในปี 2012 เผยว่า มวลกระดูกจะหนาตัวขึ้นจากการซ่อมแซมเซลล์กระดูกด้วยตัวเองในขณะที่เรากำลังหลับดังนั้น คนที่นอนไม่พอ หรือนอนน้อยมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่ายกว่าคนที่นอนหลับปกติ

    25 สัญญาณร้ายจะมาเยือน

     โรคมะเร็ง
                
              นักวิจัยส่วนใหญ่ตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ว่า โรคมะเร็งบางชนิดก็สามารถกำเริบได้ หากมีพฤติกรรมนอนน้อย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ แต่สำหรับโรคมะเร็งชนิดอื่นนั้น ขึ้นอยู่กับการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกาย และพฤติกรรมการใช้ชีวิตมากกว่า

     ขี้ลืม 
                
              จากผลการวิจัยในปี 1924 เผยว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมนอนน้อย เป็นผลให้เกิดการสะสมตัวของโปรตีนแอมีลอยด์ บีตา (Amyloid beta) ในเซลล์ประสาทหนาตัวขึ้นเป็นชั้น สมองจึงเสื่อม ในขณะเดียวกัน ยังส่งผลต่อโครงสร้างของรูปสมองให้เปลี่ยนไปอีกด้วย จึงเป็นผลที่ทำให้จดจำอะไรไม่ได้นาน  

    25 สัญญาณร้ายจะมาเยือน

     ระบบการทำงานของเซลล์ในร่างกายผิดปกติ 
                
              ผลการวิจัยในปี 2013 เผยว่า การนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืนส่งผลให้กระบวนการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายผิดปกติ เป็นผลให้ระบบภูมิคุ้มกันพร่องลง และยังทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเครียดเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งยีนบางชนิดที่ต้องทำงานตามนาฬิกาชีวิตนั้นจะค่อย ๆ ทำงานผิดปกติไปทีละนิด นั่นหมายความว่า หากเรานอนน้อยเป็นประจำ การทำงานของเซลล์ในร่างกายก็จะผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็นนั่นเอง  

     ไม่มีความสุข 
                
              ผลการวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบล ในสาขาจิตวิทยา เคยมีการทดลองเรื่องการนอนไม่หลับกับความสุขในชีวิตด้วย โดยให้กลุ่มอาสาสมัครที่เป็นผู้หญิงวัยทำงานจำนวน 909 คน เก็บรายละเอียดอารมณ์ และกิจกรรมในแต่ละวันของตัวเองเอาไว้ พบว่าพวกเธอมีความสุขในแต่ละวันน้อยมาก ทั้งที่แต่ละคนมีรายได้สูงกว่า 60,000 เหรียญสหรัฐ สาเหตุหลักมาจากปัญหาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืน ที่ส่งผลให้พวกเธอมีอารมณ์แปรปรวน เพราะปัญหาเรื่องงาน ในขณะที่อีกผลการวิจัยหนึ่งทำการทดลองวัดระดับความสุขในกลุ่มอาสาสมัครผู้หญิงที่นอนหลับเต็มอิ่มทุกคืน พบว่า พวกเธอมีความสุขกับชีวิตมากกว่าอาสาสมัครในกลุ่มแรก ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีความกังวลใด ๆ ในจิตใจที่ทำให้นอนไม่หลับ

     อายุสั้นลง
                
              ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการนอนตอนกลางคืน และเมื่อผลกระทบเหล่านั้นถูกสะสมเป็นระยะเวลานานก็สามารถบั่นทอนอายุขัยของเราให้สั้นลงได้ จากผลการวิจัยเผยว่า การนอนในตอนกลางคืนโดยเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมงนั้นเป็นช่วงเวลาที่กำลังดี สามารถยืดอายุขัยของเราได้ด้วย


              เห็นไหมคะว่าแค่การนอนไม่พอก็สามารถทำให้เราป่วยได้แล้ว ดังนั้น หากวันไหนรู้สึกว่าหาวบ่อยครั้งมากกว่าปกติ ก็อย่าลืมรีบเข้านอนแต่หัวค่ำนะคะ