โรคไข้หวัดฟังดูจากชื่อเหมือนจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่แสนจะธรรมดา เพียงแค่มียารักษาก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ใครจะรู้บ้างว่าโรคนี้ เมื่อเกิดขึ้นกับเด็ก หรือลูกน้อยของผู้ปกครองหลายๆท่านแล้ว แน่นอนว่า หัวอกความเป็นพ่อแม่ ก็จะไม่สบายใจแทบทุกครั้ง เพราะพ่อแม่ต่างรู้ดีว่า เด็กเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันไม่เหมือนผู้ใหญ่ ถ้าไม่รักษาให้หายป่วยอย่างทันท่วงที ก็อาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมาได้
ดังนั้นก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ โรคไข้หวัดตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อการดูแลเอาใจใส่ สุขภาพลูกน้อยของคุณกันเลยค่ะ
โรคไข้หวัด
: เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโรค ที่มีอยู่เกือบ 200 ชนิด ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน และทำให้เกิดการอักเสบ ทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) อาการของโรคที่พบคือ เป็นไข้ ตัวร้อน คัดจมูก น้ำมูกไหล อาจจะมีอาการ เจ็บคอ ไอแห้งๆ ร่วมด้วย อาการส่วนใหญ่ มักจะเป็นอยู่ประมาณ 507 วัน
วิธีการรักษา
โรคไข้หวัด ไม่มียารักษาโรคโดยเฉพาะ แต่มีแค่เพียงยาที่รักษา และใช้บรรเทาอาการเท่านั้น ได้แก่
- ยาบรรเทาปวดลดไข้ (Paracetamol) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดไข้แล้ว ยังสามารถแก้อาการปวดเมื่อยลำตัวได้ด้วย นอกจากนี้ในระหว่างที่ให้ยา ควรใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้หมาดเช็ดตัวเด็กไปด้วยเพื่อช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง
- ยาแก้ไอ (Bromhexine hydrochloride) ใช้ในกรณีที่เด็กมีอาการระคายเคืองคอ และไอแห้งๆหรืออาจจะจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง 4 ส่วน+ น้ำมะนาว 1 ส่วน) เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นในคอ และลดอาการระคายเคืองที่เป็นสาเหตุของอาการไอได้
- ยาลดน้ำมูก แก้คัดจมูก (Brompheniramine maleate และ Phenylephrine hydrochloride) ในกรณีที่น้ำมูกไหล ในปริมาณมากนอกจากนี้อาจจะใช้ลูกยางดูดน้ำมูกออกมา หรือใช้สำลีพันปลายไม้สอดเข้าไปในรูจมูกเพื่อซับน้ำมูกแต่ทั้งนี้ก็ควรจะให้เด็กได้ ดื่มน้ำในปริมาณมากเพื่อให้เสมหะเจือจาง และหลุดลอกได้ง่ายขึ้น โดยปกติแล้วอาการไข้หวัดในเด็กจะเป็นอยู่ประมาณ 5-7 วัน แต่ถ้าเป็นนานเกินกว่านี้ อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาจจะเป็นโรคอื่นๆ ดังนั้นเราควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ข้อควรแนะนำ
การที่เด็กจะมีสุขภาพที่แข็งแรงและห่างไกลจากไข้หวัดหรือไม่ ก็ประกอบด้วยปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น โดยการเลี้ยงดูเด็กอย่างดี การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายที่เหมาะสม และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ เด็กห่างไกลจากโรคได้