งานบรรยายภาวะขาดไวตามินดี
สนับสนุนเนื้อหา BDLP

สำหรับปัจจัยที่ทำให้กลุ่มหนุ่มสาวในประเทศไทยขาดไวตามินดี เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดด การทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันรังสียูวีเอ
และยูวีบีเป็นประจำ การบริโภคอาหารที่ไม่มีไวตามินดี เป็นต้น ซึงผลการขาดไวตามินดังกล่าวเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้อาจส่งผลเกี่ยวข้องก่อให้เกิดโรคหัวใจ, ความดันสูง, มะเร็งบางชนิด และการติดเชื้อ

จากข้อมูลดังกล่าวได้สอดคล้องกับข้อมูลผลสำรวจสุขภาพประชากรไทย ซึ่งได้ทำการวิจัยตรวจสุขภาพประชากรจำนวน 2,000 คนตามภาคต่างๆในประเทศไทย พบว่ากลุ่มหนุ่มสาววัยทำงานเป็นกลุ่มเสี่ยงขาดไวตามินดีเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงยังเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเมือง มากกว่าผู้ที่อาศัยตามชนบท


ทั้งนี้ ศ.นพ.บุญส่ง ได้กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าผู้ที่ขาดไวตามินดีมีจำนวนไม่น้อย เพราะจากผลสำรวจสุขภาพประชากรไทย ยังพบว่าผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมีไวตามินดีต่ำกว่ามาตรฐานมีจำนวนถึง 14.3% โดยมีจำนวนมากกว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานซึ่งมีจำนวน 10% ขณะที่ภาคกลางมีผู้ขาดไวตามินดี 6.5% ภาคเหนือ 4.3% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2.8% และภาคใต้ 6.3%

ด้าน พ.อ.นพ.สมชาย พัฒนอางกุล หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ไวตามินดีเป็นไวตามินสำคัญ ที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม หากร่างกายขาดไวตามินดีผลกระทบที่ตามมาจึงมีมากตามลำดับ

ซึ่งแนวทางการทำให้ร่างกายได้รับไวตามินดีอย่างเพียงพอ 400 ยูนิตต่อวัน คือ

1.การออกแดดหรือตากแดดในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. เป็นเวลา 15 นาที 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

2.การรับประทานอาหารที่มีไวตามินดี เช่นเห็ดหอมตากแห้ง ปลาแซลมอน

3.การรับประทานอาหารเสริมไวตามินดี

แนวทางง่ายๆที่ทุกคนสามารถปฎิบัติกันได้แล้วในวันนี้ เพื่อให้ร่างกายเราปราศจากโรค เหมือนที่มีคนเคยกล่าวกันไว้ว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ