ไลฟทูน ไรโซ โคคิวเทนพลัส 1,000มก. 45แคปซูล



ไลฟทูน น้ำมันปลาไร้กลิ่น 1,000มก 45แคปซูล



ไลฟทูน กรีนลิฟท์มัสเซิล+ฟิชออยล์ 1,000มก. 45แคปซูล

โรคหน้าหนาว ภัยจากอากาศเย็นที่ต้องระวัง

 

    เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงแค่ อากาศหนาว ๆ หรือลมเย็น ๆ ที่พัดผ่านมาเท่านั้น แต่โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงอากาศเย็นก็จะมาเยือนเราด้วย ที่เรารู้จักกันส่วนใหญ่ ก็คงหนีไม่พ้นโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือ โรคปอดบวม แต่รู้หรือเปล่าว่านอกเหนือจากโรคเหล่านี้ยังมีอาการเจ็บป่วยอีกหลายอย่างที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าหนาว ไม่ว่ากับทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมได้หยิบยกโรคที่เกิดในช่วงฤดูหนาวมาฝาก ยิ่งรู้เร็ว ก็ยิ่งป้องกันได้เร็ว จะได้ไม่ต้องกลัวว่าจะหมดสนุกกับอากาศเย็น ๆ ไงล่ะคะ
     
              ในช่วงฤดูหนาว เป็นช่วงที่มีอากาศเย็นมากกว่าในช่วงฤดูอื่น ๆ ของปี ซึ่งเป็นสาเหตุให้เชื้อไวรัสบางชนิดแพร่กระจายได้ง่ายกว่าในช่วงที่มีอากาศร้อน เพราะเชื้อไวรัสเหล่านั้นจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้นหากอยู่ในสภาพอากาศที่เย็น โดยโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในช่วงฤดูหนาวที่ควรระมัดระวังมีดังนี้

    1. โรคปอดบวม
     
              โรคปอดบวมคือภาวะที่เกิดขึ้นจากอาการปอดอักเสบ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อราบางชนิด โดยเมื่อเกิดอาการปอดบวมจะทำให้มีหนองและสารน้ำอย่างอื่นในถุงลม ส่งผลทำให้ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจนได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการขาดออกซิเจนและอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากรักษาไม่ทัน โรคปอดบวมมักจะระบาดในช่วงที่มีอากาศเย็นและชื้น นั่นก็คือในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงมีนาคม เนื่องจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวมมักจะเจริญเติบโตได้ดีในอาการที่เย็นและชื้น สามารถติดต่อผ่านทางการหายใจ น้ำมูกและน้ำลาย 
     
    อาการของโรค
     
              อาการของโรคปอดบวมที่เห็นได้ชัดเจนก็ได้แก่ ไอ เหนื่อย หายใจเร็ว หากอาการรุนแรงจะหายใจได้ลำบาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หากมีอาการรุนแรงจะสังเกตได้ว่าเวลาหายใจ บริเวณใต้ชายโครงจะบุ๋มเข้าไปด้วย หากสังเกตที่จมูกก็อาจจะเห็นจมูกบานเวลาหายใจเข้าด้วย นอกจากนี้อาจจะมีไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ ๆ บางรายอาจจะมีอาการริมฝีปากเขียวเนื่องจากการขาดออกซิเจน รวมทั้งอาการปวดท้อง อาเจียน และถ่ายเหลวร่วมด้วย
     
    วิธีป้องกัน
     
              วิธีการป้องกันโรคปอดบวมที่ดีที่สุดก็คือหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดโดยไม่จำเป็น และถ้าหากเป็นไข้หวัดก็ควรพักรักษาตัวอยู่บ้าน ล้างมือบ่อย ๆ และนอนพักมาก ๆ รวมทั้งดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้โรคไข้หวัดกลายเป็นเป็นโรคปอดบวมค่ะ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็สามารถช่วยได้ โดยเฉพาะในเด็ก ควรจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดและไอกรน เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวมค่ะ


    2. ไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่
     
              โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูหนาวเป็นโรคที่มักจะเป็นกันได้บ่อย เนื่องจากอาการที่เย็น และเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนั้นจะเจริญเติบโตในอากาศเย็น ๆ ได้ดีกว่าอากาศร้อน โดยส่วนใหญ่แล้ว โรคไข้หวัดทั่วไป จะมีอาการเพียงแค่ 1 สัปดาห์แล้วก็จะหายเป็นปกติ แต่โรคไข้หวัดใหญ่นั้นจะมีอาการที่รุนแรงกว่า หากรักษาไม่ถูกต้อง และทิ้งเอาไว้นานเกินไปอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 
     
    อาการของโรค 
     
              อาการของโรคไข้หวัดทั่วไปจะประกอบด้วยอาการไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ระคายคอ และมีไข้ ซึ่งจะหายไปภายในเวลา 1 สัปดาห์ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน  ส่วนอาการของโรคไข้หวัดใหญ่นั้นจะมีไข้สูงมาก ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ จะมีอาการไม่ชัดเจน ทำให้อาจมีไข้ อ่อนเพลีย ซึม สับสน และมึนงง รวมทั้งช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัว อย่างเช่น โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจวาย เบาหวาน โรคไตวาย หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ และอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ดังนั้นหากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพริน นอกจากแพทย์จะเป็นคนสั่ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้ในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงเท่านั้น
     
    วิธีป้องกัน
     
              การพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นล้างมือและดื่มน้ำบ่อย ๆ เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้โรคไข้หวัดหายได้เร็วขึ้น และหากในกลุ่มที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ควรรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้อาการทุเลาลง นอกจากนี้ในปัจจุบันไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งวัคซีนดังกล่าวจะสามารถป้องกันได้แค่สายพันธุ์ที่เราฉีดวัคซีนเข้าไปป้องกันเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันไข้หวัดธรรมดาได้ โดยควรฉีดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในช่วงก่อนฤดูฝน หรือก่อนฤดูหนาวจะดีที่สุดค่ะ ที่สำคัญยังสามารถฉีดได้แม้จะเป็นหวัดธรรมดา แต่ถ้าหากกำลังเป็นไข้อยู่ละก็ควรเลื่อนออกไปก่อน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่นิยมฉีดนั้นจะอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย และอาการจะหายไปหายใน 1 - 2 วันค่ะ
     

     3. โรคท้องร่วง

    โรคหน้าหนาว ภัยจากอากาศเย็นที่ต้องระวัง
     
              โดยส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินว่าโรคท้องร่วงจะเกิดขึ้นแต่ในช่วงฤดูร้อน แต่จริง ๆ แล้ว โรคท้องร่วงสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูหนาวเช่นกัน เพราะในช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่มีลมแรง และลมอาจจะพัดพาเอาเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงมาด้วย โดยเฉพาะโรคท้องร่วงในเด็กเล็ก ที่เกิดจากเชื้อโรตาไวรัส สามารถทำให้เกิดโรคท้องร่วงรุนแรงได้ พบมากในเด็กอายุตั้ง 3 เดือน - 2 ปี แต่ก็ใช่ว่าผู้ใหญ่จะไม่สามารถเป็นโรคท้องร่วงได้ หากได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายก็สามารถทำให้เป็นโรคท้องร่วงได้เช่นกัน
     
    อาการของโรค 
     
              อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย โดยอาการหลัก ๆ ได้แก่ ไข้ขึ้น อาเจียน ถ่ายเหลว บางรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจจะทำให้ถ่ายบ่อยจนเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายไปมากผิดปกติ ส่งผลทำให้เกิดอาการขาดน้ำและอ่อนเพลีย และอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
     
    วิธีการป้องกัน 
     
              เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วง มักจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปาก ดังนั้นจึงควรที่จะล้างมือบ่อย ๆ เพราะการล้างมือจะช่วยขจัดเชื้อโรคที่อยู่ในมือออกได้ ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าเราจะเผลอหยิบอาหารโดยใช้มือหรือเปล่า อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านกรรมวิธีทำให้สุกอย่างถูกวิธี เลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ส่วนในเด็กเล็กสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนตั้งแต่ช่วงแรกเกิดค่ะ


    4. โรคอีสุกอีใส

    โรคหน้าหนาว ภัยจากอากาศเย็นที่ต้องระวัง
     
              โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื้อว่า วาริเซลลาไวรัส (Varicella Virus) ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่เป็นสาเหตุของงูสวัด โรคนี้มักจะพบในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน และพบมากในวัยเรียน สามารถติดต่อโดยผ่านการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสกับของใช้ของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังสามารถติดได้จากการสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำเข้าไปผ่านทางเยื่อเมือก มีระยะในการฟักตัวอยู่ที่ 10 - 20 วัน
     
    อาการของโรค
     
              โรคอีสุกอีใสมีอาการที่เห็นได้ชัดก็คือ มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหารเล็กน้อย ผื่นจะเริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับวันที่เริ่มมีอาการไข้ โดยในช่วงแรกจะเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจึงกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างใน ในช่วงนี้จะเริ่มมีอาการคัน จนกระทั่งกลายเป็นหนอง แล้วหลังจากนั้น 2 - 4 วัน ก็จะตกสะเก็ด ปกติแล้วผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อย ๆ ออกมาทีละชุด และจะไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย โดยผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผม แล้วค่อย ๆ ลามไปตามบริเวณใบหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง โดยผื่นจะขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางรายอาจจะมีตุ่มขึ้นในช่องปาก และไม่มีอาการไข้ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริมได้ 
     
    วิธีการป้องกัน
     
              ในปัจจุบันโรคอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นวัคซีนจึงเหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงอย่างเช่นบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ๆ ตลอดเวลา แต่หากไม่ฉีดวัคซีนก็สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่เป็นโรคอีสุกอีใสหรืองูสวัด และไม่ใช้ของร่วมกับผู้ป่วยเพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรงค่ะ


    5. โรคมือเท้าปาก 

    โรคหน้าหนาว ภัยจากอากาศเย็นที่ต้องระวัง
     
              เราอาจจะคิดว่าโรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้แค่ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น แต่จริง ๆ ในฤดูหนาว โรคมือเท้าปากก็สามารถระบาดได้เช่นกัน โดยโรคมือเท้าปากนี้มักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก เป็นส่วนใหญ่ และสามารถแพร่กระจายได้ในอากาศที่เย็นและชื้น ซึ่งโรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อมือเท้าปากปนเปื้อนอยู่ และสามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว อย่างที่เรามักจะเห็นว่ามีโรงเรียนมากมายถึงกับต้องหยุดการเรียนการสอนทันทีเมื่อมีเด็กเพียงหนึ่งคนเป็นโรคมือเท้าปาก เพราะเด็กที่ป่วยด้วยโรคมือเท้าปากจะมีเชื้อที่สามารถติดต่อได้ในน้ำลาย น้ำมูก และอาจพบในอุจจาระ และเชื้อสามารถอยู่ได้ในอากาศเย็นถึง 2 - 3 สัปดาห์เลยทีเดียว
     
    อาการของโรค
     
              โรคมือเท้าปากจะเริ่มแสดงอาการหลังจากติดเชื้อแล้วประมาณ 2 - 3 วัน และอาการที่เห็นได้ชัดเจนคือมีตุ่มน้ำใส ๆ สีแดง ขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และมีแผลร้อนในบริเวณช่องปาก บางคนอาจจะมีผื่นขึ้นตามตัวและมีอาการท้องเสียร่วมด้วย โดยจะใช้เวลา 7 - 10 วันอาการจึงจะเริ่มทุเลาลงจนหายเป็นปกติ ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วย 99% จะไม่มีอาการรุนแรงและสามารถรักษาหายได้ แต่ก็มีอัตราส่วน 1 ใน 1,000 ราย ที่จะมีอาการุนแรง และหากเชื้อขึ้นสมอง จะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีไข้สูง ชัก น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้
     
    วิธีป้องกัน
     
              โรคดังกล่าวสามารถติดต่อได้ง่ายมากในเด็ก ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ติดเชื้อโรคมือเท้าปาก ก็ควรหมั่นให้เด็กล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ และไม่ควรให้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับเด็กที่ป่วย หากครอบครัวใดมีเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ก็ไม่ควรจะพาออกไปตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และควรให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่วนโรงเรียนก็ไม่ควรให้เด็กใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันค่ะ


    6. โรคหัด
     
              โรคหัด เป็นโรคที่เกิดในเด็กก่อนวัยเรียน และวัยเรียน อายุ 2 -12 ปี เสียเป็นส่วนใหญ่ และจะไม่พบในเด็กที่มีอายุต่่ำกว่า 8 เดือน เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันจากแม่ เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ และการจามรดกันโดยตรง หรือการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป โรคหัดมักจะระบาดในช่วงต่อระหว่างฤดูหนาวและฤดูร้อน ซึ่งถ้าหากชุมชนได้มีภูมิคุ้มกันมากกว่า 94% ก็จะทำให้ป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ 
     
    อาการของโรค
     
              อาการของโรคหัดนั้นใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดธรรมดา คือ มีไข้ น้ำมูกไหล ไอแห้ง ๆ ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นโรคหัดหรือไข้หวัดธรรมดา แต่จะสามารถสังเกตได้หลังจากที่มีไข้สูง ตาแฉะและแดงก่ำ เวลาโดนแสงจะรู้สึกแสบตาและระคายเคืองตา ทำตาหยี ไอและมีน้ำมูกมาก ปากและจมูกแดง นอกจากนี้เด็กที่ป่วยอาจจะมีไข้สูงประมาณ 3 -4 วัน แล้วจึงมีผื่นลามจากหลังหูไปยังใบหน้าและร่างกาย ผื่นจะมีขนาดโตและสีเข้มขึ้นเรื่อง ๆ ก่อนที่เด็กจะมีผื่นขึ้นตามลำตัวจะมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นในปากบริเวณฟันกรามบน ซึ่งจะเป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัดเท่านั้น หลังจากผื่นขึ้นประมาณ 1 - 2 วันแล้ว อาการจะเริ่มดีขึ้น
     
    วิธีการป้องกัน
     
              ปัจจุบันนี้โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเป็นวัคซีนรวม หัด หัดเยอรมัน และคางทูม เป็นวัคซีนที่เด็กทุกคนควรจะได้รับตามที่อายุที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดค่ะ


    7. โรคหัดเยอรมัน
     
              แม้จะชื่อคล้ายกัน แต่โรคหัดและหัดเยอรมันมีอาการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ไม่มีอาการรุนแรงและมักจะหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่อันตราย เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า รูเบลลาไวรัส (Rubella Virus) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย สามารถติดต่อได้จากการจาม หรือหายใจรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัด และหัด โดยจะมีระยะฟักตัวในร่างกาย 14 - 21 วัน ถึงแม้ว่าจะอาการไม่รุนแรง แต่โรคหัดเยอรมันก็เป็นอันตรายสำหรับทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา หากมารดาที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 3 เดือน จะทำให้ทารกมีโอกาสเสี่ยงที่จะพิการสูง และความพิการที่เกิดขึ้นจะรุนแรง อย่างเช่น ตาบอด หูหนวก หัวใจพิการ และที่สำคัญ สมองพิการ ปัญญาอ่อน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 
     
    อาการของโรค
     
              หัดเยอรมันมีอาการคล้ายโรคหัด คือจะมีไข้ และออกผื่นคล้ายหัด แต่ผื่นที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นเม็ดละเอียดที่แดง มองเป็นเป็นปื้น ๆ หรือเป็นจุด ๆ กระจายไปทั่วร่างกาย โดยผื่นจะเริ่มขึ้นที่ใบหน้าก่อน แล้วจึงจะแผ่กระจายลงมาตามหน้าอก ลำตัว และแขนขาจนกระทั่งทั่วร่างกาย ใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมง แต่หลังจากนั้น 3 วัน จะหายไปอย่างไร้ร่องรอยเหมือนไม่เคยเกิดมาก่อน นอกจากนี้ยังมีอาการต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลังหูโต ก่อนที่จะมีผื่นขึ้น 1 สัปดาห์ และจะเริ่มยุบลงหลังจากผื่นหายไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ในผู้หญิงอาจจะมีอาการปวดตามข้อเล็ก ๆ ร่วมด้วย โดยอาจจะปวดเป็นวัน จนถึง 2 สัปดาห์ แต่จะไม่เกิน 1 เดือน
     
    วิธีการป้องกัน 
     
              โรคหัดเยอรมันมีวิธีป้องกันเช่นเดียวกับโรคหัด ซึ่งก็คือการฉีดวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด แต่ถ้าหากยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนก็สามารถฉีดได้เมื่อโตขึ้น ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้ก็สามารถไปฉีดได้โดยไม่ต้องกลัวผลข้างเคียง เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยใดรายงานว่าวัคซีนหัดเยอรมันจะทำให้ทารกเกิดอาการพิการค่ะ


    8. ผื่นผิวหนังอักเสบ

    โรคหน้าหนาว ภัยจากอากาศเย็นที่ต้องระวัง
     
              ในช่วงหน้าหนาว ความชุ่มชื้นในผิวจะลดลงเนื่องจากอากาศที่แห้ง จึงอาจจะทำให้ผิวหนังแห้ง บางรายถึงกับผิวแตก และเป็นผื่นคันอักเสบได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาผิวแห้งหรือผู้สูงอายุที่มีต่อมไขมันทำงานลดลงอาจจะมีอาการผิวลอกได้ 
     
    วิธีการป้องกัน
     
              หากมีอาการผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ และผิวลอก ควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ทั่วไป และเปลี่ยนมาใช้สบู่อ่อน ๆ เลี่ยงการขัดผิว และไม่ควรแช่น้ำอุ่นนาน ๆ เพราะจะทำให้ผิวยิ่งแห้ง และอาจจะลดการอาบน้ำลงเหลือวันละครั้ง หรือ ทาครีมหรือน้ำมันทาผิวทุกครั้งหลังอาบน้ำในขณะที่ผิวยังหมาด ๆ อยู่ค่ะ และหากเป็นผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายอยู่แล้วก็ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีสารเคมีน้อย เพื่อที่จะได้ไม่เกิดอาการแพ้ค่ะ
     
     
              จะเห็นได้เลยว่าหน้าหนาวแม้จะทำให้อากาศเย็นสบาย แต่ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกันถ้าหากเราไม่ดูแลสุขภาพให้ดีเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าไม่อยากจะป่วยก็ควรหมั่นรักษาสุขภาพ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อีกอย่างที่สำคัญก็คือควรหาเสื้อผ้าหนา ๆ อุ่น ๆ สวมทุกครั้งที่ต้องออกไปข้างนอก ถ้าทำได้ทุกอย่างครบถ้วนละก็ ไม่ต้องกลัวป่วยอย่างแน่นอนเลยค่ะ