“ที่น่ากลัวมากอีกอย่างหนึ่งคือ กระดูกพรุนมักตรวจพบหลังจากคนไข้มีอาการกระดูกหักมาแล้ว การตรวจจะทำได้โดยเครื่องมือวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเท่านั้น เครื่องเอ็กซเรย์ธรรมดาทั่ว ๆ ไป ไม่สามารถวัดหาปริมาณความหนาแน่นของมวลกระดูกได้ และถ้าพบลักษณะกระดูกพรุนจากการเอ็กซเรย์กระดูก ต้องรู้ว่าในขณะนั้นกระดูกได้พรุนไปแล้วหนึ่งส่วนสามของกระดูกปกติ เพราะการตรวจวัดหาความหนาแน่นของมวลกระดูกในช่วงก่อนอายุ 65ปี จะไม่แสดงปริมาณความหนาแน่นของมวลกระดูกที่แท้จริง จึงเรียกโรคนี้ว่า มฤตยูเงียบ” รศ.พญ.วิไล กล่าว
เมื่อโรคกระดูกพรุนมาเยือนจนถึงขั้นกระดูกหักแล้ว คนไข้จะเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ตามมาอีกมาก เช่น โรคเรื้อรังของระบบหายใจ แผลกดทับ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อ และอาจเสียชีวิตในที่สุด ในกรณีที่สามารถผ่าตัดรักษาได้ ผลของการรักษาอาจไม่ทำให้กลับมาเป็นปกติ หรือทำงานตามเดิมไม่ได้ จึงนับเป็นการสูญเสียทรัพยากรของทั้งครอบครัวและส่วนรวม
รศ.พญ.วิไล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีหนทางในการรักษาโรคนี้ ที่ทำได้มีผลเพียงแค่หยุดยั้งการสูญเสียมวลกระดูก และรักษาอาการกระดูกหักเท่านั้น วิธีการรักษาที่ใช้อยู่ก็คือ การเสริมแคลเซียม การให้ฮอร์โมนทดแทน และการให้วิตามินดี เป็นต้น
“วิธีที่ดีสุด ก็คือ การเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก โดยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะผักใบเขียวและนม ซึ่งเป็นสารอาหารที่ให้แคลเซียมดีที่สุด เด็กควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว (ประมาณ 500 ซีซี) จนถึงวัยหนุ่มสาว เพื่อเพิ่มมวลกระดูก โดยในกลุ่มเด็ก อายุ10-19 ปี รวมทั้งกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ต้องการแคลเซียมมากกว่ากลุ่มอื่น ประมาณวันละ 1,200 มก.และในกลุ่มผู้ใหญ่ อายุ 20 ปี - มากกว่า 60 ปี ต้องการแคลเซียม 800-1,000 มก./วัน นอกจากนั้นควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชากาแฟ และน้ำอัดลม”
สรุปได้ว่าแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสมนั้นเอง เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะช่วยปกป้องมนุษย์จากมฤตยูเงียบอย่างกระดูกพรุน โดยคนส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์ทุกคนว่า ในแต่ละวันร่างกายเกิดการสร้างและทำลายมวลกระดูกอยู่ตลอดเวลา ตอนเยาว์วัยร่างกายจะสร้างมวลกระดูกมากกว่าทำลาย แต่เมื่ออายุยิ่งมากขึ้นเท่าไร การสร้างมวลกระดูกจะลดน้อยลง และเกิดการทำลายมวลกระดูกมากขึ้น
โดยเฉพาะแคลเซียมนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการหนีให้ไกลจากโรคกระดูกพรุน พึงระลึกเสมอว่าแคลเซียมจำเป็นสำหรับทุกวัย และควรทานทุกวัน การสะสมแคลเซียมตั้งแต่วัยเยาว์จะทำให้มีต้นทุนแคลเซียมสะสมไว้ใช้ในยามสูงอายุ เปรียบเสมือนตัวเราเป็นดั่งธนาคารแคลเซียม ต้องรีบสะสมไว้ให้มากพอ เพราะหากคิดมารับประทานแคลเซียมเอาเมื่อสูงวัยแล้ว อาจสายเกินไป และแคลเซียมนั้นจะมีประสิทธิภาพต่อร่างกายมากขึ้น หากรับประทานร่วมกับวิตามินดี ซึ่งเป็นตัวช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดี นอกจากนี้ หากร่างกายไม่สามารถรับแคลเซียมได้เพียงพอจากอาหาร ยังสามารถเลือกรับประทานแคลเซียมที่ปัจจุบันมีทั้งแบบเม็ด และแบบเหลว ซึ่งประเภทหลังนี้จะสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่า โดยมากมักจะมีวิตามินดีและธาตุอาหารที่จำเป็นต่อกระดูกผสมอยู่ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับทุกเพศทุกวัย
รศ.พญ.วิไล กล่าวด้วยว่า จริงอยู่แม้การรับประทานแคลเซียมในรูปยามากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น อาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง ไม่คลายตัว อาจเป็นอันตรายต่อหัวใจ หรืออาจจะเกิดปัญหากระดูกงอกตามข้อ เป็นต้น แต่สำหรับคนไทยในปัจจุบัน ปัญหาการได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ มีปริมาณมากกว่ากรณีรับประทานแคลเซียมมากเกิน การเลือกรับประทานแคลเซียมเสริมจึงต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยของร่างกาย ควรเลือกผลิตภัณฑ์ หรืออาหารที่มาจากธรรมชาติจะดีที่สุด
เพราะฉะนั้น ป้องกันตัวเองกันเสียแต่วันนี้ เพราะการรักษาโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุด..อยู่ที่การป้องกันนั่นเอง... ควรดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เยาว์วัย เพราะการปล่อยให้เกิดปัญหากระดูกหัก จากภาวะกระดูกพรุน จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก อีกทั้งยังเป็นภาระต่อคนในครอบครัว และภาระทางสังคม ที่ใครๆ ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง
ดังนั้นเราจึงควรหันมาเปิดธนาคารแคลเซียมในตัวเรา ทุกวัย ทุกวันกันดีกว่า...