ยังไม่แก่ แต่มีอาการปวดเข่า อย่าชะล่าใจ!
ยังไม่แก่ แต่มีอาการปวดเข่า อย่าชะล่าใจ!
ข้อเข่าเสื่อม
อาการปวดเข่าเนื่องจากโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นสิ่งที่พบบ่อยในคนวัยกลางคนขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า
สาเหตุเกิดจากกระดูกอ่อนที่ผิวข้อสึกหรอ จากแรงกดดันและการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง จึงพบได้บ่อยในคนที่มีน้ำหนักเกิน คนที่มีการนั่งในท่างอเข่า (คุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ นั่งส้วมแบบยองๆ) การแบกของหนัก การยืนนานๆ การวิ่งกระโดด หรือการขึ้นลงบันไดบ่อย
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดขัดในหัวเข่า โดยเฉพาะหลังนั่งในท่างอเข่านานๆ เดินขึ้นลงบันไดหรือบนพื้นต่างระดับ หรือแบกของหนัก ในระยะแรกผู้ป่วยรู้สึกรำคาญหรือทรมานจากอาการปวดเข่า โดยที่หัวเข่าไม่มีอาการบวมแดง
วิธีดูแลโรคเข่าเสื่อมที่ปลอดภัย
ในระยะแรก (ก่อนที่มีข้อเข่าพิการมาก) ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองด้วยการปฏิบัติตัวอย่างจริงจัง ดังต่อไปนี้
1.หากมีน้ำหนักเกิน ควรหาทางลดน้ำหนักให้ได้ โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย จะผ่อนแรงกดดันต่อข้อเข่า ช่วยให้ทุเลาปวดได้
2. หลีกเลี่ยงการนั่งในท่างอเข่าทุกรูปแบบ ควรหันมานั่งบนเก้าอี้แทนการนั่งบนพื้น รวมทั้งไม่นั่งส้วมแบบยองๆ ควรเปลี่ยนเป็นส้วมชักโครก หรือนั่งบนเก้าอี้นั่งที่เจาะรูตรงกลางวางคร่อมส้วมซึม หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันได การแบกของหนัก ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่านั่งหรือยืนอยู่ในท่านั้นนานๆ
เหล่านี้ช่วยให้ทุเลาปวด ลดการใช้ยาลงได้
3. หมั่นบริหารข้อเข่าให้แข็งแรงทุกวัน ก็จะช่วยให้ทุเลาปวดได้เช่นกัน
4. หากยังมีอาการปวดเข่ามาก ให้กินพาราเซตามอลครั้งละ 1-2 เม็ด บรรเทาเป็นครั้งคราว อย่ากินติดต่อกันนานๆ อาจเกิดโทษ (เช่น ไตวายเรื้อรัง แพ้ยา)ได้
5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดข้อ (ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์) ยาสตีรอยด์ (ผสมอยู่ในยาชุด ยาลูกกลอน) เพราะก่อโทษมากกว่าคุณ
ข้อมูล : นิตยสารหมอชาวบ้าน (เดือนเมษายน 2557)