ปวดหลัง สัญญาณอันตรายต้องพบแพทย์

นับวันยิ่งจะพบเพิ่มมากขึ้นในทุกเพศ ทุกวัยอันเนื่องมาจากลักษณะของกิจวัตรประจำวัน การปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้ามีอาการปวดหลังร่วมกับกลุ่มอาการบางอย่างที่สำคัญดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

 

          โรคปวดหลังนับว่าเป็นปัญหาสำคัญและพบบ่อยที่สุดอย่างหนึ่งของโรคกระดูกและข้อ และนับวันยิ่งจะพบเพิ่มมากขึ้นในทุกเพศ ทุกวัยอันเนื่องมาจากลักษณะของกิจวัตรประจำวัน การปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้ามีอาการปวดหลังร่วมกับกลุ่มอาการบางอย่างที่สำคัญดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป กลุ่มอาการดังกล่าวได้แก่

          1. ไข้ สาเหตุส่วนใหญ่อาจเกิดเนื่องมาจากการติดเชื้อในร่างกาย บางครั้งอาจจะมีการติดเชื้อที่บริเวณกระดูกสันหลัง สาเหตุส่วนใหญ่นั้นอาจจะมีการติดเชื้อในบริเวณอื่นของร่างกายก่อน เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบโดยเฉพาะในเพศหญิงวัยหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และเกิดการติดเชื้อที่บริเวณกระดูกสันหลัง มีการทำลายกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนในบริเวณรอบ ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรงร่วมกับอาการไข้ สาเหตุของเชื้อที่พบส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อแบคทีเรีย และในบางครั้งอาจจะพบมีการติดเชื้อวัณโรคของกระดูกสันหลังได้เช่นเดียวกัน

          2. มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่บริเวณกระดูกสันหลังได้ มะเร็งที่มักจะแพร่กระจายมาที่บริเวณกระดูกสันหลังได้แก่ มะเร็งเต้านม ต่อมลูกหมาก ปอด ระบบทางเดินอาหาร ต่อมไทรอยด์ เมื่อมีการแพร่กระจายของมะเร็งมาตามกระแสเลือดและมาที่บริเวณกระดูกสันหลังจะกระตุ้นให้เกิดการทำลายกระดูกเป็นอย่างมาก ทำให้โครงสร้างกระดูกปกติถูกทำลายลง เกิดกระดูกสันหลังยุบตัวลง ก่อให้เกิดอาการปวดหลังมาก ในบางครั้งถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปกดทับเส้นประสาทและไขสันหลังก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชา อาการอ่อนแรงของขา ไม่สามารถเคลื่อน ไหวได้ รวมทั้งอาจจะไม่สามารถกลั้นอุจจาระและปัสสาวะได้ ทำให้เป็นอัมพาต

          3. ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือมีปัสสาวะเล็ด สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากมีการกดทับเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งสาเหตุของการกดทับเส้นประสาทมีได้หลายสาเหตุเช่น หมอนรองกระดูกที่มีขนาดใหญ่มากเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท โรคมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกและมีการกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง รวมทั้งภาวะของการติดเชื้อของกระดูกสันหลังที่อาจจะมีหนองไปกดทับเส้นประสาท ทำให้ระบบการขับถ่ายผิดปกติ

          4. มีอาการอ่อนแรงของขา หรือสูญเสียสมดุลของร่างกาย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะนั้นๆ ถูกกดทับ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการทำงาน การเคลื่อนไหวของระยางค์นั้น ๆ ได้

          5. มีอาการปวดตอนกลางคืนหรือปวดขณะพัก อาจจะมีหรือไม่มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ซึ่งเป็นสัญญาณหนึ่งของภาวะการติดเชื้อของกระดูกสันหลัง หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาส่งผลทำให้มีอาการปวดมากแม้ขณะนอนพัก

          6. อาการชารอบๆ ทวารหนัก หรือสูญเสียความรู้สึกรอบๆ ทวารหนัก เกิด เนื่องมาจากมีการกดทับของเส้นประสาทที่ควบคุม และรับความรู้สึกในบริเวณรอบ ๆทวารหนัก

          7. มีการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เอสแอลอี (โรคพุ่มพวง) หรือผู้ป่วยที่ชอบซื้อยาสเตียรอยด์รับประทานเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เกิดการติดเชื้อในร่างกายได้ง่ายกว่าคนปกติเพราะภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน และมีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น

          8. ได้รับอุบัติเหตุ ในผู้ป่วยที่มีประวัติได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการปวดหลังแบบเฉียบพลันนั้นอาจจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังหัก ยุบ ทำให้มีอาการปวดหลังเป็นอย่างมาก

          9. น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีสาเหตุที่เกิดจากภาวะมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูก เพราะการติดเชื้อของกระดูกสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร ไม่สามารถรับประทานอาหารได้อย่างเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายและน้ำหนักลด

          10. ปวดหลังร่วมกับส่วนสูงที่ลดลง อาจเกิดเนื่องมาจากการที่มีโรคกระดูกพรุนร่วมกับการเกิดกระดูกสันหลังยุบตัวลง ทำให้เกิดหลังโก่งค่อม และส่วนสูงลดลง จึงทำให้เกิดมีอาการปวดมาก ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้สูงอายุ

          ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังร่วมกับอาการดังกล่าวข้างต้นควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ และให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

 

 

          ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ โดย ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่