แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างกระดูกและฟัน โดย กระดูกเป็นอวัยวะที่มีชีวิตโดยมีเซลล์หลัก 2 ชนิด คือ Osteoclast มีหน้าที่สลายกระดูก และ Osteoblast มีหน้าที่สร้างกระดูก ซึ่งเซลล์ทั้ง 2 ชนิดนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย โดยช่วงเวลาของการสร้างและสลายกระดูกแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงแรกเกิด – อายุประมาณ 30 ปี จะเป็นช่วงที่มีการสร้างมวลกระดูกมากกว่าการสลายมวลกระดูก จนมวลกระดูกเพิ่มถึงจุดสูงสุดที่เรียกว่า Peak Bone Mass
ช่วงอายุ 30 -45 ปี การสร้างมวลกระดูกจะลดลงจนเท่ากับการสลายกระดูก ทำให้มวลกระดูกคงที่
ช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป การสร้างมวลกระดูกจะลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะสตรีในวัยหมดประจำเดือน การสลายมวลกระดูกจะรวดเร็วมาก ทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว
จะเห็นได้ว่า เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น มวลกระดูกจะลดลง ทำให้เนื้อกระดูกบาง เปราะ หักง่าย การเสริมแคลเซียม จึงเป็นอีกหนทางที่จะช่วงชะลอภาวะกระดูกเสื่อมนี้ได้ แหล่งที่พบแคลเซียมตามธรรมชาติ ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิด ชีส เต้าหู้ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วแห้ง วอลนัท เมล็ดทานตะวัน ผักเคล บรอกโคลี กำหล่ำใบเขียว ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน เป็นต้น โดยปกติ ร่างกายควรได้รับแคลเซียม อย่างน้อยวันละ 1,000 - 1,200 มิลลิกรัม ต่อวัน ทั้งนี้นับรวมถึงอาหารที่เรารับประทานต่อวันด้วย อาหารที่เรารับประทานมีแคลเซียมอยู่วันละประมาณ 360 มิลลิกรัม ดังนั้นความต้องการแคลเซียมเสริมส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 600- 800 มิลลิกรัม ต่อวัน
แคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริมทั่วไปในท้องตลาด มักอยู่ในรูป แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) แคลเซียมชนิดนี้มีปริมาณแคลเซียมอยู่ประมาณ 40% แต่อัตราการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายค่อนข้างต่ำและต้องการภาวะกรดของกระเพาะอาหารในการแตกตัวและดูดซึม แคลเซียมคาร์บอนเนต อาจทำให้มีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง บางรายจะมีอาการท้องผูกมาก แคลเซียมที่ดูดซึมง่ายกว่าและไม่ต้องการภาวะกรดในกระเพาะอาหารในการแตกตัวเพื่อการดูดซึม คือ แคลเซียมซิเทรท (Calcium Citrate) ซึ่งมีข้อเสียคือราคาสูงกว่าและมีปริมาณแคลเซียมต่ำกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต
แคลเซียมที่นิยมมากอีกชนิดหนึ่ง คือ แคลเซียมเม็ดฟู่ที่ต้องนำไปละลายน้ำก่อนดื่ม มักมีการปรุงรสให้ง่ายต่อการรับประทานหรือผสมวิตามินซีเพื่อให้รสชาติดีขึ้น แคลเซียมเม็ดฟู่มักมีองค์ประกอบของแคลเซียมคาร์บอนเนตเพื่อให้มีปริมาณแคลเซียมมากๆและผสมแคลเซียมแลคโตกลูโคเนตช่วยการดูดซึม แคลเซียมชนิดนี้มีราคาแพงกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต แต่ก็อาจทำให้มีอาการท้องอืดได้เช่นกันเนื่องจากมีส่วนผสมของแคลเซียมคาร์บอเนตด้วย นอกจากนั้นยังมีแคลเซียมที่มาจากธรรมชาติ เช่น แคลเซียมจากสาหร่ายทะเล แคลเซียมจากปะการัง แคลเซียมจากกระดูกปลา เป็นต้น ซึ่งคุณภาพก็จะแตกต่างกันไปตามแหล่งที่มา ซึ่งแคลเซียมจากแหล่งธรรมชาติจะมีข้อดีในเรื่องของความปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย นอกจากนั้น การดูดซึมแคลเซียมยังขึ้นกับภาวะความปกติของระดับวิตามินดีในร่างกาย ถ้ามีภาวะขาดวิตามินดี ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมได้น้อย เมื่อดูดซึมแล้วร่างกายก็ไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ในการสร้างกระดูกได้ดี
ดังนั้นควรออกกำลังกายในที่ที่มีแสงแดดบ้างเพื่อรับวิตามินดีให้เพียงพอ หรือรับประทานวิตามินดีเสริมด้วยก็จะทำให้ไม่ขาดวิตามินดี