ภาวะขาดวิตามินดี

ความจริงแล้ววิตามินดีไม่ใช่วิตามิน แต่เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งซึ่งออกฤทธิ์ที่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล ได้แก่ กล้ามเนื้อ กระดูก ไต และลำไส้ โดยวิตามินดีจะเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ลำไส้เล็ก ลดการขับแคลเซียมและฟอสฟอรัสออกมาทางปัสสาวะ ร่างกายจึงมีปริมาณแคลเซียมและฟอสฟอรัสเพียงพอในการเสริมสร้างมวลกระดูก ทำให้กระดูกมีความแข็งแรง


การขาดวิตามินดีที่ไม่รุนแรงมักจะไม่ แสดงอาการ แต่อาจทำให้กระดูกเปราะบางและหักง่าย ถ้าวิตามินดีต่ำมากเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ในเด็กเล็กจะยืนและเดินลำบาก ส่วนในผู้ใหญ่จะหกล้มง่ายและเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหัก นอกจากนี้ยังพบว่าการขาดวิตามินดีเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท วัณโรค และโรคภูมิแพ้ต่างๆด้วย

ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีเองได้โดยการออกแดด รังสียูวีบีจะทำให้มีการสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนัง โดยจะต้องถูกแดดบริเวณหน้า แขน ขา วันละ 15 นาที จนผิวหนังมีสีแดงเล็กน้อย ซึ่งถ้าจะให้ได้วิตามินดีเพียงพออาจมีข้อเสียคือ ผิวหนังเหี่ยวย่นเร็วและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง นอกจากนี้ยังได้รับจากอาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ ปลาที่มีไขมันมาก เช่น แซลมอน แมคเคอเรล ซาร์ดีน ทูน่า เห็ดหอมชนิดแห้ง หรือได้รับจากยาเม็ดวิตามินดี

การวินิจฉัยภาวะขาดวิตามินดีทำได้โดยการ ตรวจหาระดับวิตามินดี 25(OH)D ในเลือด ซึ่งผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน โรคตับและไตเรื้อรัง ควรตรวจวัดระดับวิตามินดี นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะต่างๆ เช่น สูงอายุ เดินไม่ได้ หรือหกล้มบ่อย มีอาการท้องเสียเรื้อรัง ได้รับยาสเตียรอยด์หรือยาลดไขมันติดต่อกันเป็นเวลานาน มีผิวคล้ำ อ้วนมาก ก็ควรมีการตรวจระดับวิตามินดีเช่นกัน

การป้องกันไม่ให้พร่องวิตามินดีทำได้โดยรับประทานอาหารที่ มีแคลเซียมสูงสม่ำเสมอ และรับแสงแดดบ้างสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หากไม่ค่อยได้ทานปลาทะเล หรือเห็ดหอมแห้ง หรือ เป็นผู้สูงอายุ ควรรับประทานวิตามินรวม 1-2 เม็ด ส่วนผู้ที่มีภาวะพร่องวิตามินดีควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ โดยแพทย์จะให้ยาเม็ดที่มีวิตามินดีขนาดสูง รับประทานสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลา 2-3 เดือน หลังจากนั้นจึงลดขนาดลง

การรับประทานวิตามินรวมหรือยาเม็ดวิตามินดีขนาดเม็ดละไม่เกิน 1000 หน่วย วันละไม่เกิน 3 เม็ด ไม่มีอันตรายแต่อย่างไร แต่ถ้ารับประทานยาเม็ดวิตามินดีขนาดสูงควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่าง เคร่งครัด ผู้ที่ทานยาวิตามินต่อเนื่องระยะยาว และมีอาการท้องผูก ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะเป็นกรวดทราย ควรหยุดยา วิตามินดีโดยทันที และพบแพทย์เนื่องจากอาจมีปัญหาวิตามินดีเกินขนาด

เรียบเรียงโดย ภญ.อัปสร พิทักษ์ทอง จากเอกสารให้ความรู้เรื่อง ความสำคัญของ
วิตามินดี และภาวะการขาดและพร่องวิตามินดี

เขียนโดย พ.อ.น.พ. สมชาย พัฒนอางกุล กองอายุรกรรม
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า