ถึงจะเป็นน้ำเปล่า ก็ต้องเลือกดื่ม

  Q : น้ำประปาดื่มได้หรือไม่?


              จริงอยู่ว่ารัฐจัดบริการน้ำสะอาดได้มาตรฐานตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกให้ประชาชนได้อาบและดื่มกันได้ แต่อะไรที่เรามองไม่เห็น เราก็ไม่เคยไว้ใจได้เต็มร้อยใช่หรือไม่ ยิ่งหนทางที่กว่าน้ำจะมาถึงเรา แม้แต่ก๊อกในบ้านเราเอง ข้างในก็ไม่รู้ว่ามีสารโลหะหนักหรือเชื้อจุลินทรีย์ที่พร้อมจะกระโจนลงน้ำประปาที่ไหลผ่านแล้วลงสู่ท้องเราหรือไม่ 

              แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ผู้คนยังไม่วางใจน้ำประปาขนาดเปิดก๊อกดื่มกัน ทำให้มีน้ำดื่มบรรจุขวดขายกว่า 400 ยี่ห้อ ฉะนั้นแล้วเมื่ออยู่บ้าน แม่บ้านที่อยากประหยัดอย่าลืมต้มน้ำประปาให้เดือดอย่างน้อย 5 นาที แล้วจึงค่อยกรอกใส่ขวดให้สมาชิกในบ้านดื่ม เวลาออกไปกินอาหารนอกบ้าน (ยิ่งเป็นข้างถนนด้วยแล้ว) ก็ควรเช็กว่าร้านค้าไม่ได้เสิร์ฟน้ำประปาจากก๊อกด้วยนะ

    ดื่มน้ำ

     Q : น้ำดื่มบรรจุขวดเลือกอย่างไร?

              ปัจจุบันมีน้ำดื่มบรรจุขวดวางเรียงรายในตู้ร้านสะดวกซื้อมากขึ้นหลายยี่ห้อ เพราะการผลิตไม่ยุ่งยากและตลาดยังขยายตัวได้เรื่อย ๆ ยังไม่นับรวมถึงน้ำดื่มตามร้านอาหารและสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างแบรนด์ หรือในงานอีเว้นท์ที่แจกน้ำดื่มในชื่อแบรนด์ของลูกค้าที่จ้างจัดงาน เป็นต้น 

              ทั้งนี้ ในฐานะผู้ดื่มควรเช็กสักหน่อยก่อนบิดฝารินใส่ปากว่าที่ขวดมีเครื่องหมาย อย. หรือไม่ เพราะน้ำถือเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ต้องขออนุญาตผลิต อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีตรา อย. ก็ยังปลอมแปลงกันได้ น้ำขวดที่ดีต้องอยู่ในขวดที่สะอาด ไม่รั่วซึม หรือมีรอยสกปรก ถ้าเป็นขวดพลาสติก ฝาปิดต้องสนิทและมีพลาสติกรัดอีกชั้นหนึ่ง ไม่มีร่องรอยว่ามีการเปิดใช้ และหากเป็นชนิดถังต้องมีห่วงพลาสติกผนึกรอบฝาจุกกับปากถัง ส่วนสภาพของน้ำต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสิ่งเจือปนอื่น ๆ ไม่มีสี กลิ่น หรือรสที่ผิดปกติ ควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ 

              ส่วนการเก็บรักษาก็สำคัญ ไม่ควรวางปะปนกับผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย เพราะสามารถออสโมซิสดูดซับสารพิษรอบตัวได้อย่างไรก็ตาม น้ำดื่มบางยี่ห้ออาจมีรสชาติ ด้วยปริมาณอัลคาไลน์ (Alkaline) และค่า pH ความเป็นกรดด่างที่ผู้ผลิตตั้งใจให้มีเพื่อคงแร่ธาตุในน้ำไว้ หรืออาจเติมวิตามินบางชนิด ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนประกอบเพิ่มเติมเหล่านี้ต้องแสดงอย่างชัดเจนบนฉลากสำหรับผู้บริโภคอย่างเราก็เลือกชิมรสน้ำเปล่าที่ถูกใจได้

    น้ำดื่ม

     Q : น้ำแร่ดีกว่าน้ำธรรมดาจริงหรือ?

              น้ำแร่ (Mineral Water) ที่มีราคาแพงกว่าน้ำธรรมดาและมาในขวดที่ดูหรูหรากว่านั้น นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สรุปความสั้น ๆ ว่าคือน้ำบาดาลนั่นเอง เพียงแต่มีแร่ธาตุใดแร่ธาตุหนึ่งมากเป็นพิเศษ และเตือนว่าหากดื่มทุกวันก็มีผลให้ร่างกายเสียสมดุลได้ เช่น น้ำแร่ที่มีฟลูออไรด์ช่วยบำรุงรักษาฟันและกระดูก แต่หากมีมากเกิน 0.7 มิลลิกรัม จะทำให้ฟันตกกระในเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ขวบ ส่วนผู้ใหญ่จะทำให้กระดูกผิดปกติ 

              นอกจากนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้เขียนบทความเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ระบุว่า ผู้ป่วยบางโรคก็ไม่เหมาะที่จะดื่มน้ำแร่ เช่น โรคไต หัวใจ หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น ถ้าไม่มั่นใจว่าแต่ละวันกินอาหารได้ครบตามหลักโภชนาการหรือไม่ หรือวันใดรู้สึกอ่อนเพลีย ก็ไม่ผิดที่จะเลือกดื่มน้ำแร่โดยเลือกแบรนด์ที่น่าเชือถือ (น้ำแร่จากฝั่งยุโรปได้รับการยอมรับมากที่สุด) 

              ก็มีวิธีดื่มน้ำแร่ที่ถูกต้องอยู่ 2 วิธีคือ ดื่ม 1 ลิตรภายใน 30 นาทีขณะท้องว่าง ซึ่งการดื่มน้ำแร่วิธีนี้จะใช้กับน้ำแร่ชนิดที่หวังผล เช่น เพื่อขับนิ่วออกจากร่างกาย (น้ำแร่ที่มีซัลเฟต-ไบคาร์บอเนตสูง) หรือดื่มน้ำแร่ 500 มล. และทยอยดื่มทีละ 10 มล. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. โดยจิบน้ำน้อย ๆ ขณะอ่อนเพลีย หรือพร้อมมื้ออาหาร ทางที่ดีไม่ควรดื่มน้ำแร่ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งซ้ำเป็นประจำติดต่อกัน เพราะจะได้รับแร่ธาตุตัวใดตัวหนึ่งมากเกินความจำเป็นและส่งผลเสียต่อร่างกายแทนที่จะได้ประโยชน์ไป